บางครั้งทฤษฎีดนตรี ก็ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนที่ไม่ได้เล่นดนตรี แต่แท้ที่จริงแล้วหากมีความรู้เรื่องทฤษฎีดนตรีสากลเบื้องต้น บ้างก็อาจจะทำให้เห็นมุมมองในเรื่องใกล้ตัวเปลี่ยนไปได้เหมือนกันนะ
ในโพสต์นี้แอดก็อยากจะพูดถึงเรื่องของกุญแจเสียงที่มีอิทธิพลกับคนไทยมาช้านาน การเอาเรื่องใกล้ตัวมาผูกกับทฤษฎีดนตรีก็อาจจะทำให้ทฤษฎีดนตรีนั้นไม่น่าเบื่อที่จะเรียนรู้กัน
ก่อนจะนำทุกท่านเข้าสู่เนื้อหาสาระในบทความนี้ แอดก็ขออนุญาตเล่าประวัติส่วนตัวของแอดเพียงคร่าวๆ กันก่อนถือเป็นการท้าวความละกันนะจร้า
แอดเองเป็นเด็กวงโยธวาทิต อยู่วงโยธวาทิตมา 6 ปี พูดง่ายๆ ก็คือ อยู่จนจบ ม.6 นั่นแหละ ทุกๆเช้าจะต้องทำหน้าที่อันน่าภาคภูมิใจมากกก และหน้าที่นั้นก็คือ การบรรเลงเพลงชาติ ให้ทุกคนในโรงเรียนได้ร้องเพลงชาติกันทุกเช้า และนอกเหนือไปกว่านั้นเนี่ย ก็จะมีงานพิธีต่างๆ มากมายที่เด็กวงโยฯ จะต้อง Stand by รอไว้เลย
ด้วยความที่เป็นคนที่สงสัยจึงเกิดคำถามในใจว่า ทำไมเพลงพิธีทั้งหมดที่เล่นในโอกาสสำคัญต่างๆ ตั้งแต่เพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมี เพลงสดุดีมหาราชา เพลงสดุดีมหาราชินี เพลงมหาฤกษ์ (วงโยฯส่วนมากเล่นคีย์ Eb เมเจอร์ บางวงเล่นคีย์ C เมเจอร์) คือ เพลงทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้เล่นกันอยู่ในคีย์ Eb เมเจอร์ทั้งหมดเลย แล้วเล่นกันอยู่แค่บันไดเสียงเดียวเท่านั้นหรือ? หืมมม แล้วทำไมต้องเป็นคีย์ Eb เมเจอร์ด้วยยย ติดตั้ง 3 แฟล็ตแหนะ
ดังนั้นจึงอยากฝากให้ครูวงโยฯ ช่วยบอกเด็กนักเรียนด้วยว่า เพลงพิธีเหล่านี้เนี่ยเล่นกันในคีย์ Eb เมเจอร์นะ คือมันค่อนข้างสำคัญเลยแหละ เพราะว่า นักเรียนที่เล่นเครื่องดนตรีที่เป็นคีย์ C อยู่แล้วก็จะไม่ต้องคิดอะไรเยอะ แต่ถ้าเด็กที่เล่นเครื่องดนตรีที่เป็นเครื่อง Bb เช่น Clarinet, Trumpet หรือ Tenor Saxophone แล้วเนี่ย บางทีเด็กอาจจะไม่รู้ว่าเพลงพิธีที่เล่นนั้นเป็นคีย์ Eb เมเจอร์ เพราะว่าเครื่องดนตรีที่เป็นคีย์ Bb เมเจอร์ จะต้องถูก Transpose ไปเล่นในคีย์ F เมเจอร์แทน
แล้วทำไมเพลงชาติถึงใช้คีย์ Eb เมเจอร์ละ เอออันนี้เนี่ยนะ เราต้องไปถามพระเจนดุริยางค์ เพราะท่านเป็นคนแต่งเพลงชาติไทยนะครับ
ทำไมถึงใช้ คีย์ Eb เมเจอร์ ในเพลงพิธีต่างๆ
คีย์ Eb เมเจอร์เป็นคีย์ที่ทำให้รู้สึกหึกเหิม ทรงพลัง สง่างาม เป็นคีย์ของจิตวิญญาณที่ทำให้เข้าถึงพระเจ้าอะไรประมาณนั้น หรืออาจจะเป็นคีย์ที่เป็นสัญลักษณ์ของความจงรักภักดี ก็อาจจะเป็นได้
ยกตัวอย่างเพลงของนักแต่งเพลงชื่อดังที่ใช้คีย์ Eb เมเจอร์ ที่พยายามสื่อถึงความยกย่อง เชิดชู ของบุคคลหนึ่งที่ชื่อว่า นโปเลียน โบนาปาร์ต ผู้ที่ทำการปฏิวัติฝรั่งเศส
และเพลงนั้นคือ เพลง Symphony No.3 in Eb Major ของ Beethoven ที่เขานั้นถึงขนาดตั้งชื่อเพลงนี้ในตอนแรกว่า “Bonaparte” คือ Beethoven ยกย่องและศรัทธาในอุดมการณ์ของ “นโปเลียน” มากในตอนนั้น
แต่อำนาจนั้นไม่เข้าใครออกใคร นโปเลียน เองได้สถาปนาตัวเองขึ้นเป็นจักรพรรดิ ทำให้ Beethoven ผิดหวังกับอุดมการณ์ของ นโปเลียน และในสุดท้ายนั้น Beethoven จึงได้เปลี่ยนชื่อเพลงเป็น “Eroica” (Sinfonia Eroica) หรือ Heroic Symphony หรือ ซิมโฟนีฮีโร่ นั่นเอง
แต่ว่าอันที่จริงแล้วเนี่ย Beethoven ไม่ใช่คนแรกที่ใช้คีย์เพลงเป็นสัญลักษณ์ในการแสดงออกเป็นคนแรก ก่อนหน้านี้ก็มีนักแต่งเพลงที่ใช้คีย์เพลงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการแสดงออกมากมาย
แต่ประเด็นหลักที่สงสัย คือ “ทำไมถึงต้องเป็น คีย์ Eb เมเจอร์” ถ้าใครได้เรียนทฤษฎีดนตรีแบบลึกๆ ก็อาจจะพอรู้เรื่องนี้บ้าง ประเด็นหลักๆ เลยที่ใช้คีย์ Eb เมเจอร์เพื่อแสดงออกที่ความสง่างาม ความหึกเหิม นั้น มันเกิดจากปัญหาในการ Tuning ในสมัยก่อนโน้นน
เมื่อก่อนเนี่ยระบบการเทียบเสียงยังไม่เสถียรมากนัก การ Tuning ในสมัยก่อนใช้ทฤษฎีของ Pythagoras ก็คือ การเทียบตาม Overtone ทำให้มีปัญหามาก พูดง่ายๆ คือ โน้ต 1 ตัวเนี่ยประกอบไปด้วยเสียง Overtone มากมาย และ Overtone ของแต่ละตัวโน้ตก็มีความถี่ไม่เท่ากัน เช่น F# ของคีย์ G เมเจอร์ ก็คนละเสียงกับ F# ในคีย์ D เมเจอร์เว้ยเฮ้ย
คีย์ C เมเจอร์ในสมัยก่อนนั้นเมื่อเทียบเสียงด้วยทฤษฎีของ Pythagoras เป็นคีย์ที่เสียงเฮียมากๆ ส่วนคีย์ Eb เมเจอร์เป็นคีย์ที่เสียงดีที่สุ๊ดดด ดังนั้นในสมัยก่อนคีย์ Eb เมเจอร์ จึงเป็นคีย์ที่ให้เสียงเต็มสุดๆละ ในเวลาที่เล่นคอร์ด เลยทำให้รู้สึกทรงพลังมากๆ
แต่เดี๋ยวก่อนนะ ตอนนี้ดนตรีสากลที่เราเล่นๆกันอยู่ในปัจจุบันนี้เราไม่ได้เทียบเสียงอิงตามทฤษฎีของ Pythagoras แล้วนะ แต่เราใช้วิธีการเทียบเสียงแบบ Temperament และมันก็ดูเหมือนว่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด การเทียบเสียงแบบนี้คือการทำให้ระยะห่างของโน้ตครึ่งเสียงเท่ากันหมด โดยที่ไม่ได้อิงตาม Overtone series ซึ่งทำให้ทุกวันนี้การไล่สเกลของเครื่องแต่ละเครื่องดนตรีนั้นไม่เพี้ยนนั่นเอง
นักเปียโนจะรู้ดีในเรื่องการ Tuning แบบ Temperament เพราะว่านักเปียโนทุกคนจะต้องฝึกบทเพลง Well Tempered Clavier ของ Johannes Sabastien Bach ผู้ซึ่งประพันธ์ Preludes and Fugues ครบทั้ง 24 เมเจอร์คีย์ และ 24 ไมเนอร์คีย์ การที่จะเล่นบทเพลงนี้แบบไม่เพี้ยนก็ต้อง Tuning แบบ Temperament หลังจาก Bach ตายไป การ Tuning แบบ Temperament จึงเป็นที่นิยมกันในการ Tuning เครื่องคีย์บอร์ดนั่นเอง
คีย์ Eb เมเจอร์ กับชีวิตประจำวันของคนไทย
ในชีวิตประจำวันของคนไทยนั้น เราจะได้ยินเพลงชาติทุกๆเช้าในเวลา 8 โมงเช้า และเวลา 6 โมงเย็น และในเวลาที่เราเข้าโรงหนังเราก็จะได้ยืนเคารพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และก็ยังได้ฟังเพลงสรรเสริญพระบารมี จึงเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับคนไทยทุกคนที่ควรรู้ว่า เพลงเหล่านี้นั้นใช้คีย์ Eb เมเจอร์
เพราะการได้ยินทุกวัน ประกอบกับความรู้ทางทฤษฎีดนตรีลงไปด้วย จะเป็นการฝึกโสตทักษะไปในตัวได้อย่างดีเลยทีเดียว เพราะการฟังทุกวันและร้องทุกวัน จะทำให้เราจดจำ Tone Color ของคีย์ Eb เมเจอร์ได้ เวลาฟังเพลงอะไร ถ้าเพลงนั้นแต่งด้วยคีย์ Eb เมเจอร์ เราก็จะรู้เลยว่าเพลงนี้ใช้คีย์ Eb เมเจอร์นะ
โพสต์นี้ยาวเลยนะครับ แอดหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย หากใครรู้จักเพลงป๊อปที่แต่งด้วยคีย์ Eb เมเจอร์ ก็อยากให้ช่วยคอมเมนท์หรือแชร์ประสบการณ์ ความรู้สึกที่ได้ฟังเพลงป๊อปในคีย์ Eb เมเจอร์ให้อ่านกันบ้างนะครับ
แนะนำบทความ ไล่สเกล C major ได้ ก็เล่นได้อีก 10 สเกล เทคนิคที่ไม่มีใครเคยบอกคุณ