สเกล C major น่าจะเป็นสเกลแรกๆที่ทุกคนได้เริ่มฝึกกัน คุณจะเลือกซ้อมสเกล 1 ชั่วโมง และได้แค่ 1 สเกล หรือจะเลือกซ้อมสเกล 1 ชั่วโมงและซ้อมได้ 10 สเกล มาดูกันว่าการเรียนทฤษฎีดนตรีทำให้คุณพัฒนาทักษะดนตรีของคุณได้อย่างไร
การฝึกสเกลหรือบันไดเสียงนั้นเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับนักดนตรีทุกคน หากเรียนรู้เรื่องทฤษฎีดนตรี ก็สามารถทำให้คุณสามารถประยุกต์นำความรู้ทางทฤษฎีดนตรีมาพัฒนาทักษะการเล่นให้พัฒนาได้อย่างก้าวกระโดด ในระยะเวลาอันสั้น
หากคุณคือผู้ที่โหยหาที่จะพัฒนาทักษะการเล่นของคุณ โพสต์นี้จะเป็นประโยชน์สำหรับคุณ และแน่นอนเนื้อหาที่คุณกำลังจะอ่านนั้นคือทฤษฎีดนตรีล้วนๆ คุณควรที่จะขอคำปรึกษาครูที่สอนเทคนิคการเล่นเครื่องดนตรีของคุณเองสำหรับเทคนิคในการเล่น เพราะเครื่องดนตรีแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน
สเกลหรือบันไดเสียงไม่ได้มีแค่ “เมเจอร์” หรือ “ไมเนอร์”
หากย้อนกลับไปก่อนที่จะมีการคิดระบบสเกลเมเจอร์หรือไมเนอร์ขึ้นมาใช้กันเพลงทั้งหลายได้ถูกแต่งขึ้นจาก “โมด” โมด คือ บันไดเสียงโบราณที่ใช้กันในเพลงโบสถ์ สมัยก่อนนะ แต่ตอนนี้โมด ได้ถูกใช้อยู่ในดนตรีป๊อป ดนตรีแจ๊ส ดนตรีคลาสสิค พูดง่ายๆ คือ หลายๆเพลงที่เราได้ยินได้ฟังกัน มีการใช้โมดในเพลงด้วย
มาดูกันว่า โมด มีกี่โมด
หลักๆเลยนะ โมดมีอยู่ 7 โมด ได้แก่
- โมดไอโอเนียน (Ionian mode)
- โมดโดเรียน (Dorian mode)
- โมดฟริเจียน (Phrygian mode)
- โมดลิเดียน (Lydian mode)
- โมดมิกโซลิเดียน (Mixolydian mode)
- โมดเอโอเลียน (Aeolian mode)
- โมดโลเครียน (Locrian mode)
หากมองจากมุมของทฤษฎีดนตรีในปัจจุบัน โมดทั้ง 7 โมดนั้นสามารถสร้างได้จากสเกลเมเจอร์เพียง 1 สเกล ยังไง? งงอ่ะดิ มาดูตัวอย่างกันเลยดีกว่า
สร้างโมดจากสเกล C major
การสร้างโมดจากสเกลเมเจอร์ ง่ายนิดเดียวจริงๆ นะ เพียงแค่เปลี่ยน Tone center ของบันไดเสียงเมเจอร์ ไปเรื่อยๆ จนครบทั้ง 7 ตัวก็จะได้โมดทั้ง 7 โมด แค่นั้นเอง ตัวอย่างต่อไปนี้จะเป็นการคิดโมดจากสเกล C major
โมดไอโอเนียน (Ionian Mode) สเกลเมเจอร์ที่ทุกคนรู้จักกันนั้น รู้มั้ยว่ามันคือ โมดไอโอเนียน ดังนั้น โมด C ไอโอเนียน ก็คือ สเกล C เมเจอร์
C D E F G A B C
โมดโดเรียน (Dorian mode) คือการเริ่มโน้ตตัวที่ 2 ของสเกลเมเจอร์ ดังนั้น โมด D โดเรียน ก็คือ
D E F G A B C D
โมดฟริเจียน (Phrygian mode) คือการเริ่มโน้ตตัวที่ 3 ของสเกลเมเจอร์ ดังนั้น โมด E ฟริเจียน ก็คือ
E F G A B C D E
โมดลิเดียน (Lydian mode) คือการเริ่มโน้ตตัวที่ 4 ของสเกลเมเจอร์ ดังนั้น โมด F ลิเดียน ก็คือ
F G A B C D E F
โมดมิกโซลิเดียน (Mixolydian mode) คือการเริ่มโน้ตตัวที่ 5 ของสเกลเมเจอร์ ดังนั้น โมด G มิกโซลิเดียน ก็คือ
G A B C D E F G
โมดเอโอเลียน (Aeolian mode) คือการเริ่มโน้ตตัวที่ 6 ของสเกลเมเจอร์ ดังนั้น โมด A เอโอเลียน ก็คือ
A B C D E F G A
สังเกตได้ว่า โมด A เอโอเลียน มีความเป็นสเกลไมเนอร์ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน ดังนั้นจึงบอกได้ว่าสเกลไมเนอร์ ถูกสร้างมาจากโมดเอโอเลียนนั่นเอง
โมดโลเครียน (Locrian mode) คือการเริ่มโน้ตตัวที่ 7 ของสเกลเมเจอร์ ดังนั้น โมด B โลเครียน ก็คือ
B C D E F G A B
โอ้โห จากสเกล C major สามารถซ้อมสเกลเพิ่มได้อีกตั้ง 6 สเกลตามตัวอย่างข้างบนที่ได้อธิบายไป โดยที่ใช้พื้นฐานจากสเกล C major ลองหยิบเครื่องมือมาเล่นกันดูสิ
ซ้อมสเกลไมเนอร์จาก สเกล C เมเจอร์
จากตัวอย่างของโมด เราจะเห็นได้ว่า โมด A เอโอเลียน คือ สเกล A ไมเนอร์แบบเนเชอรัล ก็ คือ A B C D E F G A แต่ไมเนอร์มีทั้งหมด 3 ประเภทคือ
- เนเชอรัลไมเนอร์
- ฮาร์โมนิกไมเนอร์
- เมโลดิกไมเนอร์
ถ้าซ้อม A เอโอเลียน ก็คือ การซ้อมสเกล A ไมเนอร์แบบเนเชอรัล คือ
A B C D E F G A
ถ้าจะซ้อมสเกล A ไมเนอร์แบบฮาร์โมนิก ก็ไปติดเครื่องหมายชาร์ปที่ตัวที่ 7 ก็จะได้ สเกล A ไมเนอร์แบบฮาร์โมนิก
A B C D E F G# A
ถ้าจะซ้อมสเกล A ไมเนอร์แบบเมโลดิก ก็ไปติดเครื่องหมายชาร์ปที่ตัวที่ 6 กับ 7 แต่ขาลงให้เล่นเป็นเนเชอรัลไมเนอร์ ก็จะได้ สเกล A ไมเนอร์แบบเมโลดิก ดังนี้
ขาขึ้น A B C D E F# G# A
ขาลง A B C D E F G A (เล่นเป็นไมเนอร์แบบเนเชอรัล หรือ โมดเอโอเลียน)
โอ้โห จาก สเกล C เมเจอร์ เพียงสเกลเดียวสามารถต่อยอดได้อีกหลายสเกลเลยที่เดียว ยังไม่จบนะยังมี สเกลเพนทาโทนิกอีก โอ้แม่เจ้า
เล่นสเกลเมเจอร์เพนทาโทนิก
สเกลเพนทาโทนิกมีโน้ตทั้งหมด 5 ตัว ถ้าจะเล่นสเกลเพนทาโทนิกจากสเกลเมเจอร์ก็เพียงแค่ตัดตัวโน้ตตัวที่ 4 และ 7 ของสเกลเมเจอร์ออกไป แค่นั้นเอง ตัวอย่าง
สเกล C เมเจอร์
C D E F G A B C
แปลงสเกล C เมเจอร์ เป็น สเกล C เมเจอร์เพนทาโทนิก โดยการตัดโน้ตตัวที่ 4 และ 7 ออกก็จะได้
C D E G A C
เล่นสเกลไมเนอร์เพนทาโทนิก
ส่วนสเกลไมเนอร์เพนทาโทนิกก็ต้องอิงจากโมดเอโอเลียน และตัดโน้ตตัวที่ 2 กับ 6 ทิ้ง ตัวอย่างเช่น
โมด A เอโอเลียน หรือ สเกล A ไมเนอร์แบบเนเชอรัล
A B C D E F G A
แปลงสเกล A ไมเจอร์ เป็น สเกล A ไมเนอร์เพนทาโทนิก โดยการตัดโน้ตตัวที่ 2 และ 6 ออกก็จะได้
A C D E G A
ไม่น่าเชื่อเลยว่าจาก สเกล C major เพียง 1 สเกลเท่านั้น สามารถต่อยอดเล่นสเกลอื่นๆได้อีกมากมาย นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างเบื้องต้นเท่านั้น ยังมีสเกลอื่นๆ อีกที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการซ้อมสเกลของท่านได้
การซ้อม สเกลและโมด ต่างๆ อาจจะยังไม่เห็นภาพมากนักว่าการใช้งานสเกลพวกนี้จะเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง แอดจึงอยากแนะนำให้ลองสร้างคอร์ดจากทุกๆ โมดที่เราได้ซ้อมกัน แล้วลองใส่ Chord progression เบื้องต้นดู คือ I-IV-V-I จากนั้นให้ลองฟังดูว่า Chord progression ในโมดไหนคุณคุ้นเคยและชอบมากที่สุด หากคุณยังไมรู้วิธีสร้างคอร์ด สามารถอ่านได้ที่นี่ คอร์ดเบื้องต้น
ในบทความนี้แอดเพียงอยากต้องการแบ่งปันความรู้ทางทฤษฎีดนตรีให้ทุกคนได้ลองเอาไปศึกษากันเพิ่มเติม ถ้าเราได้ศึกษาทฤษฎีดนตรีไปด้วยก็จะทำให้เรานำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการฝึกซ้อมทักษะเครื่องดนตรีที่เราเล่นได้ดีขึ้นนั่นเอง
แนะนำโพสต์ที่คุณควรอ่าน คีย์ Eb เมเจอร์ มีความสำคัญกับคนไทยอย่างไรบ้าง