ทฤษฎีดนตรีสากลเบื้องต้น บทเรียนแรกที่นักดนตรีต้องเรียนรู้คือ การเรียนรู้วิธี การอ่านโน้ต นักดนตรีทุกคนควรอ่านโน้ตได้ ไม่ว่าคุณจะเล่นเครื่องดนตรีชนิดใดก็ตาม การอ่านโน้ตเป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าคุณอ่านโน้ตได้คุณก็สามารถสื่อสารกับคนอื่นได้ในวงดนตรีของคุณ หรือช่วยให้คุณบันทึกไอเดียของคุณเองได้ ระบบการเรียกชื่อโน้ตสากลนั้นแบ่งออกเป็น 2 ระบบ คือ
- ระบบโซ-ฟา
- ระบบตัวอักษร
ทั้ง 2 ระบบนี้สามารถใช้เรียกชื่อโน้ตทั้ง 7 ตัวได้เหมือนกัน ต่างกันเพียงชื่อเรียกเท่านั้น
การอ่านโน้ตด้วยระบบโซ-ฟา
หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับการร้อง โด เร มี ฟา โซ ลา ที โด กันดีอยู่แล้วนะครับ การเรียกชื่อโน้ตสากลแบบนี้ คือ การเรียกชื่อโน้ตแบบระบบโซ-ฟา นั่นเอง โดยที่จะไล่โน้ตจากตำ่ไปสูงตามลำดับวนไปเรื่อยๆ ในทางกลับกันเราก็สามารถไล่โน้ตขาลงได้ด้วยเช่นกัน โดยเริ่มจากโน้ตตัวที่ 1 เช่นกันและไล่ลงตามลำดับ คือ โด ที ลา โซ ฟา มี เร โด…
การอ่านโน้ตด้วยระบบตัวอักษร
ใครเคยเล่นกีตาร์ก็น่าจะคุ้นเคยกับการอ่านโน้ตด้วยระบบตัวอักษรกันบ้างแล้วนะครับ ซึ่งการเรียกชื่อโน้ตในระบบตัวอักษรก็เหมือนกับการเรียกชื่อโน้ตในระบบโซ-ฟานั่นแหละครับ เพียงแต่ใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษมาแทนการเรียกชื่อโน้ต โด เร มี… ตัวอักษรที่ใช้ก็นำมาจากพยัญชนะภาษาอังกฤษ 7 ตัวแรก คือ A B C D E F G ออกเสียงตามตัวอักษรเลยนะครับ คือ เอ บี ซี ดี อี เอฟ จี… โดยที่ A=ลา, B=ที, C=โด, D=เร, E=มี, F=ฟา, G=โซ
อันที่จริงการเรียกชื่อโน้ตทั้ง 2 ระบบนี้ จะเริ่มจากโน้ตตัวไหนก่อนก็ได้ แต่ต้องเรียงลำดับจากเสียงต่ำกว่าไปเสียงสูงกว่าครับ โน้ตมีทั้งหมด 7 ตัว หากเริ่มจาก เร หรือ D เราก็ต้องไล่โน้ตไปตามลำดับ คือ
เร มี ฟา โซ ลา ที โด เร… หรือ D E F G A B C D…
มี ฟา โซ ลา ที โด เร มี… หรือ E F G A B C D E…
ฟา โซ ลา ที โด เร มี ฟา… หรือ F G A B C D E F…
โซ ลา ที โด เร มี ฟา โซ… หรือ G A B C D E F G…
ลา ที โด เร มี ฟา โซ ลา… หรือ A B C D E F G A…
ที โด เร มี ฟา โซ ลา ที… หรือ B C D E F G A B…
โด เร มี ฟา โซ ลา ที โด… หรือ C D E F G A B C…
เป็นเช่นนี้เรื่อยไปครับ
สงสัยกันไหมครับว่าทำไมการเรียกชื่อโน้ตด้วยระบบตัวอักษรถึงเริ่มจากโน้ตตัวลา (A)?
สำหรับเหตุผลที่แท้ทรู ว่าทำไมตัวอักษร A จึงเริ่มจากโน้ตตัวลานั้น เป็นเพราะว่า โน้ตตัวลา (A) เป็นโน้ตที่มีความถี่ 440 เฮิรตซ์ ไม่มีจุดทศนิยมอะไร ก็เลยให้ A แทนโน้ตตัวลาไปเลยครับ เหตุผลมีแค่นี้เองจริงๆ นอกจากนี้แล้วโน้ตตัวลา ยังเป็นโน้ตที่ใช้เทียบเสียงกันในวงออร์เครสตร้าอีกด้วยนะครับ เพราะว่าน่าจะเป็นโน้ตที่มีความเสถียรสุดแล้วละครับในการ Tuning ของวงที่มีเครื่องสาย
ทบทวนบทเรียนการอ่านโน้ตด้วยระบบตัวอักษร (Musical Alphabet)
- การอ่านโน้ตมี 2 ระบบ คือ ระบบโซ-ฟา และ ระบบตัวอักษร
- การเรียกชื่อโน้ตของทั้ง 2 ระบบนี้ จะต้องเริ่มจากโน้ตต่ำไปสูง หรือ ในขาลงก็เริ่มจากสูงไปต่ำตามลำดับ เช่น โด เร มี ฟา โซ ลา ที [โด] ที ลา โซ ฟา มี เร โด… หรือ C D E F G A B [C] B A G F E D C…
- การออกเสียงในระบบตัวอักษรก็ให้ออกเสียงตามพยัญชนะได้เลยครับ คือ เอ บี ซี ดี อี เอฟ จี… (A B C D E F G)
ในบทเรียนทฤษฎีดนตรีเบื้องต้นนี้ผมจะเน้นให้อ่านโน้ตด้วยระบบตัวอักษรกันก่อนนะครับ เพราะจะทำให้เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อนมากจนเกินไปสำหรับคนที่เริ่มเล่นดนตรีครับ
สิ่งที่ต้องท่องจำ:
ท่องจำตัวอักษรให้ตรงกับชื่อโน้ตให้ได้นะครับ C=โด, D=เร, E=มี, F=ฟา, G=โซ, A=ลา, B=ที, เมื่อท่องจำได้แล้วบทต่อไปค่อยมาทำความรู้จักกับ เครื่องหมายแปลงเสียง กันครับ