ขั้นคู่เสียง (Interval) คือ ความสัมพันธ์ระหว่างโน้ต 2 ตัว ที่บ่งบอกถึงลักษณะของเสียงและระยะห่างของโน้ตทั้ง 2 ตัว ในทฤษฎีดนตรีสากลเบื้องต้นนี้ ผมจะอธิบายขั้นคู่ในระดับเบื้องต้น เพื่อเป็นพื้นฐานในการเรียนทฤษฎีดนตรีในระดับต่อไป
ชนิดของ ขั้นคู่เสียง
เพื่อความง่ายในการคิดขั้นคู่ ผมขออิงบันไดเสียงเมเจอร์ ในการคิดขั้นคู่ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ในเบื้องต้นขอยกเอาบันไดเสียง C เมเจอร์เป็นตัวอย่างในการคิดขั้นคู่ บันไดเสียง C เมเจอร์ ประกอบไปด้วย
C D E F G A B C
ระยะห่างของโน้ตทั้ง 2 ตัว เราจะใช้ตัวเลขเป็นตัวบอกถึงระยะของโน้ตทั้ง 2 ตัวนั้น เช่น
- โน้ต C กับ D คือ ขั้นคู่ 2
- โน้ต C กับ E คือ ขั้นคู่ 3
- โน้ต C กับ F คือ ขั้นคู่ 4
- โน้ต C กับ G คือ ขั้นคู่ 5
- โน้ต C กับ A คือ ขั้นคู่ 6
- โน้ต C กับ B คือ ขั้นคู่ 7
ความสัมพันธ์และระยะห่างของโน้ตในแต่ละตัว มีลักษณะเฉพาะตายตัว ที่สามารถแบ่งออกเป็น 5 ชนิด ดังนี้
- ขั้นคู่เมเจอร์ (Major) ตัวย่อ M
- ขั้นคู่ไมเนอร์ (Minor) ตัวย่อ m
- ขั้นคู่เพอร์เฟค (Perfect) ตัวย่อ P
- ขั้นคู่ดิมินิชท์ (Diminished) ตัวย่อ d
- ขั้นคู่ออกเมนเทด (Augmented) ตัวย่อ A
ขั้นคู่เมเจอร์ (Major)
ขั้นคู่เมเจอร์ จะใช้ตัวอักษร M เป็นตัวย่อและตามด้วยเลขขั้นคู่ ขั้นคู่ที่มีคุณสมบัติเป็นขั้นคู่เมเจอร์ คือ
- ขั้นคู่ 2 เมเจอร์ – M2 (C – D)
- ขั้นคู่ 3 เมเจอร์ – M3 (C – E)
- ขั้นคู่ 6 เมเจอร์ – M6 (C – A)
- ขั้นคู่ 7 เมเจอร์ – M7 (C – B)
ขั้นคู่ไมเนอร์ (Minor)
ขั้นคู่ไมเนอร์ จะใช้ตัวอักษร m เป็นตัวย่อและตามด้วยเลขขั้นคู่ ขั้นคู่ที่มีคุณสมบัติเป็นขั้นคู่ไมเนอร์ เป็นขั้นคู่เดียวกับขั้นคู่เมเจอร์ เพียงแต่โน้ตตัวที่ 2 จะติดเครื่องหมายแฟล็ต เพื่อทำให้กลายเป็นขั้นคู่ไมเนอร์ ดังตัวอย่าง
Minor <–♭Major
- ขั้นคู่ 2 ไมเนอร์ – m2 (C – D♭)
- ขั้นคู่ 3 ไมเนอร์ – m3 (C – E♭)
- ขั้นคู่ 6 ไมเนอร์ – m6 (C – A♭)
- ขั้นคู่ 7 ไมเนอร์ – m7 (C – B♭)
ขั้นคู่เพอร์เฟค (Perfect)
ขั้นคู่เพอร์เฟค จะใช้ตัวอักษร P เป็นตัวย่อและตามด้วยเลขขั้นคู่ ขั้นคู่ที่มีคุณสมบัติเป็นขั้นคู่เพอร์เฟค คือ
- ขั้นคู่ 1 เพอร์เฟค – P1 (C – C)
- ขั้นคู่ 4 เพอร์เฟค – P4 (C – F)
- ขั้นคู่ 5 เพอร์เฟค – P5 (C – G)
- ขั้นคู่ 8 เพอร์เฟค – P8 (C – C’)
ขั้นคู่ดิมินิชท์ (Diminished)
ขั้นคู่ดิมินิชท์ จะใช้ตัวอักษร d เป็นตัวย่อและตามด้วยเลขขั้นคู่ ขั้นคู่ที่มีคุณสมบัติเป็นขั้นคู่ดิมินิชท์ คือ ขั้นคู่ที่มีคุณสมบัติเป็นขั้นคู่เพอร์เฟค แต่ถูกลดเสียงลงครึ่งเสียง ดังนี้
Diminished <–♭Perfect
- ขั้นคู่ 1 ดิมินิชท์ – d1 (C – C♭)
- ขั้นคู่ 4 ดิมินิชท์ – d4 (C – F♭)
- ขั้นคู่ 5 ดิมินิชท์ – d5 (C – G♭)
- ขั้นคู่ 8 ดิมินิชท์ – d8 (C – C’♭)
นอกจากนี้ขั้นคู่ดิมินิชท์ยังสามารถคิดจากขั้นคู่เมเจอร์และไมเนอร์ได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น
Diminished <–♭minor <– ♭Major
- ขั้นคู่ 2 ดิมินิชท์ – d2 (C – D𝄫)
- ขั้นคู่ 3 ดิมินิชท์ – d3 (C – E𝄫)
- ขั้นคู่ 6 ดิมินิชท์ – d6 (C – A𝄫)
- ขั้นคู่ 7 ดิมินิชท์ – d7 (C – B𝄫)
ขั้นคู่ออกเมนเทด (Augmented)
ขั้นคู่ออกเมนเทด จะใช้ตัวอักษร A เป็นตัวย่อและตามด้วยเลขขั้นคู่ ขั้นคู่ที่มีคุณสมบัติเป็นขั้นคู่ออกเมนเทด คือ ขั้นคู่ที่มีคุณสมบัติเป็นขั้นคู่เพอร์เฟค แต่ถูกเพิ่มเสียงให้สูงขึ้นครึ่งเสียง ดังนี้
Perfect # –> Augmented
- ขั้นคู่ 4 ออกเมนเทด – A4 (C – F#)
- ขั้นคู่ 5 ออกเมนเทด – A5 (C – G#)
- ขั้นคู่ 8 ออกเมนเทด – A8 (C – C’#)
นอกจากนี้ขั้นคู่ออกเมนเทดยังสามารถคิดจากขั้นคู่เมเจอร์ได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น
Major # –> Augmented
- ขั้นคู่ 2 ออกเมนเทด – A2 (C – D#)
- ขั้นคู่ 3 ออกเมนเทด – A3 (C – E#)
- ขั้นคู่ 6 ออกเมนเทด – A6 (C – A#)
- ขั้นคู่ 7 ออกเมนเทด – A7 (C – B#)
ตัวอย่างการคิด ขั้นคู่เสียง ในบันไดเสียงอื่น
ในการคิดขั้นคู่นั้นหากโน้ตตัวแรกเริ่มจากโน้ตใดก็ตาม ให้คิดจากบันไดเสียงเมเจอร์ของโน้ตตัวนั้นไปเลย เช่น
ขั้นคู่ G – F# คือขั้นคู่อะไร?
วิธีคิด: G – F# เป็นขั้นคู่อะไร ให้ดูที่โน้ตตัวแรกเป็นหลัก ตัวอย่างนี้ โน้ตตัวแรกเป็น G ดังนั้นจะต้องคิดขั้นคู่จากบันไดเสียง G เมเจอร์: G A B C D E F# G เพราะฉะนั้น G – F# คือ ขั้นคู่ 7 เมเจอร์ (M7)
ขั้นคู่ G – F คือขั้นคู่อะไร?
วิธีคิด: ในบันไดเสียง G เมเจอร์ โน้ตตัว F จะต้องติดเครื่องหมายชาร์ป ในตัวอย่างนี้โน้ต F ไม่มีเครื่องหมายชาร์ป แสดงว่าถูกลดเสียงให้ต่ำลงครึ่งเสียง ดังนั้น G – F จึงเป็นขั้นคู่ 7 ไมเนอร์ (m7)
ทบทวนบทเรียน ขั้นคู่เสียง เบื้องต้น
- ขั้นคู่เมเจอร์ คือ ขั้นคู่ 2, 3, 6, 7 ตัวอักษรย่อ คือ M
- ขั้นคู่ไมเนอร์ คือ ขั้นคู่เมเจอร์ ที่ถูกลดเสียงให้ต่ำลงครึ่งเสียง ตัวอักษรย่อ คือ m
- ขั้นคู่เพอร์เฟค คือ ขั้นคู่ 1, 4, 5, 8 ตัวอักษรย่อ คือ P
- ขั้นคู่ดิมินิชท์ คือ ขั้นคู่เพอร์เฟค ที่ถูกลดเสียงให้ต่ำลงครึ่งเสียง และ ขั้นคู่ไมเนอร์ที่ถูกลดเสียงให้ต่ำลงครึ่งเสียง ตัวอักษรย่อ คือ d
- ขั้นคู่ออกเมนเทด คือ ขั้นคู่เพอร์เฟค ที่ถูกเพิ่มเสียงให้สูงขึ้นครึ่งเสียง และ ขั้นคู่เมเจอร์ที่ถูกเพิ่มเสียงให้สูงขึ้นครึ่งเสียง ตัวอักษรย่อ คือ A
- ในการคิดขั้นคู่จะต้องอิงกับบันไดเสียงเมเจอร์ของโน้ตตัวแรกในการคิดขั้นคู่
สิ่งที่ต้องจำ:
- จำขั้นคู่เพอร์เฟคให้ได้ ขั้นคู่เพอร์เฟค ได้แก่ ขั้นคู่ 1, 4, 5 และ 8 ขั้นคู่ที่เหลือคือ ขั้นคู่เมเจอร์ เมื่อตรงตามบันไดเสียงนั้นๆ
- จดจำการเปลี่ยนคุณสมบัติเป็น ขั้นคู่ไมเนอร์ ขั้นคู่ดิมินิชท์ และขั้นคู่ออกเมนเทด จากขั้นคู่เพอร์เฟค และ ขั้นคู่ไมเจอร์ ให้ได้
ในการคิดขั้นคู่ได้อย่างว่องไว คุณจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความชำนาญในเรื่องของบันไดเสียงเบื้องต้น หากคุณมีความชำนาญในเรื่องขั้นคู่แล้ว คุณสามารถศึกษา กุญแจเสียงเบื้องต้น ในบทเรียนต่อไป